บมจ.โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) หรือ PTL ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายแผ่นฟิล์ม PET เพื่อใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหารและอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เปิดเกมรุกตลาดผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์ม PET ชูศักยภาพด้านฐานการผลิตยักษ์ใหญ่อันดับ 5 ของโลก รับความต้องการใช้ในกลุ่มบรรจุภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหารพุ่ง 30-40% จากปัจจัย COVID-19 พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ หนุนความมั่นคงด้านรายได้ มั่นใจผลการดำเนินงานปี 2563 เติบโตได้ดี
นายอมิต ปรากาซ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PTL ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายแผ่นฟิล์ม PET เพื่อใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหารและอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมแผ่นพิล์ม PET ในตลาดโลกมีแนวโน้มเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์ม PET ชนิดบาง ที่ได้รับความนิยมนำไปใช้ในบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว (Flexible Packaging) ในอุตสาหกรรมอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงวิกฤต COVID-19 เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปหันมาสั่งซื้อสินค้าและอาหารผ่านทาง Online มากขึ้น ทำให้กลุ่มผู้ผลิตแผ่นฟิล์ม PET ของโลกได้รับประโยชน์และเร่งผลิตสินค้ารองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีการประเมินว่า ตลาดผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์ม PET ชนิดบาง เพื่อนำไปใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคของภูมิภาคอาเซียน ช่วง COVID-19 เติบโตสูงถึง 30-40% จากเดิมเติบโตเฉลี่ย 5-7% ต่อปี
ทั้งนี้ บริษัทฯ ถือเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นฟิล์ม PET รายใหญ่ที่สุดของไทย และเป็นอันดับ 5 ของโลก จากฐานการผลิตใน 5 ประเทศ ประกอบด้วย อินเดีย ไทย อินโดนีเซีย ตุรกีและสหรัฐอเมริกา จึงได้รับอานิสงส์ในเชิงบวกจากปริมาณความต้องการใช้แผ่นฟิล์ม PET ชนิดบางที่เพิ่มขึ้น และคาดว่าจะเติบโตได้ต่อเนื่องในระยะยาวในอัตราปกติ 5-7% ต่อปี โดยเอเชียถือเป็นตลาดใหญ่ ที่มีสัดส่วนการใช้แผ่นฟิล์ม PET ชนิดบาง คิดเป็น 3 ใน 4 ของแผ่นฟิล์มทั่วโลก เนื่องจาก ณ ปัจจุบัน ในหลายประเทศยังมีอัตราการใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ต่อหัวต่อปียังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทฯ ที่มุ่งผลิตแผ่นฟิล์ม PET ชนิดบาง รับความต้องการของใช้ในภูมิภาคนี้มากขึ้น
ขณะที่ตลาดแผ่นฟิล์ม PET ชนิดหนา ที่ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เช่น เทปฉลาก การเคลือบด้วยความร้อน การถ่ายภาพและงานกราฟิก แผงโซล่าเซลล์ การก่อสร้าง และอุปกรณ์เกี่ยวกับแสง แม้ว่าที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19 แต่หลังจากที่หลายประเทศได้ประกาศคลายล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง จึงคาดว่าความต้องการจะฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติ ซึ่งมีอัตราขยายตัวอยู่ที่ 4-6% ต่อปี และช่วยสนับสนุนการขยายธุรกิจของบริษัทฯ รับจังหวะเศรษฐกิจฟื้นตัว
กรรมการผู้จัดการ PTL กล่าวว่า แผนดำเนินงานในปี 2563/2564 บริษัทฯ ได้มุ่งสร้างความแข็งแกร่งในด้านความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องและการสร้างมูลค่าเพิ่ม (High Value Product) ของแผ่นฟิล์ม PET ทั้งชนิดบางและชนิดหนา ผ่านฐานการผลิตทั้ง 5 แห่ง รองรับโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้น โดยใช้งบลงทุน 90-100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,000 ล้านบาท) เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าและยกระดับความสามารถด้านการผลิต เช่น การลงทุนแผ่นฟิล์ม BOPP หรือแผ่นฟิล์มโพลีโพรพีลีน ที่มีประสิทธิภาพสูง มีคุณสมบัติเด่นในด้านความยืดหยุ่น โปรงใสและโปร่งแสง ในประเทศอินโดนีเซีย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2564-2565 โดยมีกำลังการผลิตใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้
นอกจากนี้ ยังมีโครงการลงทุนขนาดเล็กในผลิตภัณฑ์ปลายน้ำอื่นๆ เช่น การผลิตฟิล์มเคลือบซิลิโคน ฟิล์ม โฮโลแกรม แผ่นฟิล์ม Blown ฟิล์มเป่าและแผ่นฟิล์มเคลือบนอก ในสายการผลิตในไทยและตุรกี เป็นต้น
“เรามีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน จากกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจที่มุ่งเน้นสร้างนวัตกรรมเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์มและการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและความมั่นคงทางธุรกิจรองรับโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ จากดีมานต์ความต้องการของตลาดที่เกิดจากเศรษฐกิจฟื้นตัว และรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปได้ดี ซึ่งเรามั่นใจว่าด้วยจุดแข็งของบริษัทฯ ที่มีฐานการผลิตที่ช่วยสนับสนุนประสิทธิภาพการผลิตด้วยต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำ เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เราเก็บเกี่ยวรายได้และสร้างการเติบโตให้แก่บริษัทฯ ได้อย่างยั่งยืน” นายอมิต ปรากาซ กล่าว
นายมานิตย์ กุปต้า ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน PTL กล่าวว่า บริษัทฯ คาดว่าภาพรวมผลการดำเนินงานในรอบปี 2563/64 (เมษายน 2563-มีนาคม 2564) จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีรอบบัญชี 2562/63 ที่มีรายได้รวม 14,051 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,804 ล้านบาท โดยคาดว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2563/64 (เมษายน-มิถุนายน 2563) จะทำยอดขายได้ดีขึ้น จากปริมาณความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์ม PET ชนิดบาง ในบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวในอุตสาหกรรมอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับการบริหารจัดการด้านต้นทุนการผลิตและอัตราการใช้เครื่องจักรที่ดี ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ได้เป็นอย่างดี